"กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง" ชื่อหวานชื่นใจ

         กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง แปรรูปได้หลายชนิด แต่ขึ้นชื่อในเรื่องกล้วยตากและกล้วยแผ่นอบ โดยเฉพาะกล้วยตากเนื่องจากไส้กลางไม่แข็งเมื่อแห้ง ผลอ้วนป้อมขนาดกะทัดรัดและมีกลิ่นหอมมากกว่ากล้วยน้ำว้าชนิดอื่น ๆ

         กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องถูกนำมาปลูกที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2475 และขยายพันธุ์จนเต็มพื้นที่ เพื่อจำหน่ายผลผลิตสด ซึ่งทางตอนเหนือและตอนกลางของจังหวัดพิษณุโลกและตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขตที่ราบสูง และมีภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกัน ซ้ำยังมีดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ อากาศร้อนเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วย แต่เมื่อมีผลผลิตพบว่ามีกล้วยปลายเครือหรือที่เรียกว่า "กล้วยตีนเต่า" เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถขายได้ และทำให้เกิดปัญหากล้วยเน่าเสีย จึงเกิดความคิดที่จะนำกล้วยไปตากแดดเพื่อเป็นการถนอมอาหารเหมือนการทำผักกาดเค็ม โดยไม่ได้ใส่ส่วนผสมใด ๆ ในการเพิ่มรสชาติ

         การผลิตกล้วยตาก GI บางกระทุ่ม พิษณุโลก ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนกล้วยตากบางกระทุ่ม พิษณุโลก ตามพรบ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 จะต้องเป็นกล้วยน้ำว้าที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยให้คำนิยามของกล้วยตากบางกระทุ่ม พิษณุโลก หมายถึง กล้วยตาก ที่มีเนื้อแห้งละเอียด เหนียวนุ่ม รสชาติหวานเป็นธรรมชาติ ผลิตจากกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก
         ติดต่อได้ที่เพจ Plant Propagation Center No.6,Phitsanulok Province
         ขอบคุณข้อมูลจาก : กองขยายพันธุ์พืช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 พิษณุโลก