สศก. หนุน "โกโก้-กล้วยไม้" สร้างโอกาสหลังได้คืนสิทธิ GSP อเมริกา

         หลังจากสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ระงับสิทธิพิเศษทางการค้า ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ในสินค้าไทย 573 รายการ โดยให้เหตุผลว่า ไทยไม่ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมแรงงานให้สามารถเลี้ยงชีพได้ตามสิทธิแรงงานสากล แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้คืนสิทธิ GSP ให้ไทยในสินค้า 7 รายการด้วย ได้แก่ ปลาแช่แข็ง, ดอกกล้วยไม้สด, เห็ดทรัฟเฟิล, ผงโกโก้, หนังสัตว์เลื้อยคลาน, เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า
         ล่าสุด นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP สินค้าเกษตรบางรายการนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงหลักอย่างกุ้ง และ ทูน่า ที่หลายฝ่ายกังวลอย่างแน่นอน ขณะที่ สศก. ได้มองวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยชูนโบายส่งเสริมและการปลูกโกโก้ ในประเทศ ซึ่งเป็นสินค้า 1 ใน 7 รายการที่สหรัฐคืนสิทธิ GSP ดังกล่าว

         "ตั้งแต่มกราคม ถึง กันยายน ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมเป็นมูลค่า 93,772 ล้านบาท ซึ่งสินค้ากุ้ง และทูน่า เป็นสินค้าทางประมงที่ไม่ได้ผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP โดยยังคงรักษาศักยภาพการส่งออกได้ดีและต่อเนื่อง สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่ามีโอกาสขยายการส่งออกไปยังสหรัฐมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการได้รับคืนสิทธิ GSP ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ กล้วยไม้ตัดดอก และโกโก้ โดยในปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกไปยังตลาดสหรัฐฯ ปริมาณ 1,975 ตัน มูลค่า 432 ล้านบาท ในอัตราภาษี 6.4 %"
         สำหรับสินค้าโกโก้ ไทยสามารถส่งออกเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์โกโก้ไปยังสหรัฐฯ ปริมาณ 36.31 ตัน คิดเป็นมูลค่า 32.32 ล้านบาท ในอัตราภาษี 3.5 % ซึ่งหากได้รับคืนสิทธิ GSP จากสหรัฐ จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้มากขึ้น


         นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้ากล้วยไม้และโกโก้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการผลิตพืชดังกล่าวให้เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรตามนโยบายตลาดนำการเกษตร โดยไทยส่งออกดอกกล้วยไม้เป็นอันดับ 2 ของโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้สกุลหวาย สกุลมอคคารา และสกุลออนซิเดียม สำหรับสินค้าโกโก้ ในช่วงที่ผ่านมา ความต้องการโกโก้ในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดโลกและอุตสาหกรรมแปรรูปมากกว่า 100 ชนิด ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง เป็นต้น
         ทั้งนี้ สศก. จะเร่งผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการตลาดของพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะโกโก้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการส่งเสริมการปลูกโกโก้ ในรูปแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ