เกษตรฯจับมือจีน ลุยส่งออกโคเนื้อ 2 พันตัว/วัน

         นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการหารือการค้าเพื่อส่งออกโคเนื้อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว โดยมี นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมชาย ดวงเจริญ ผู้ประกอบการบริษัท LS trading export import Co Ltd ฝ่ายลาว และนายหยางเจียง ผู้จัดการบริษัท LS chengkang ฝ่ายจีน ร่วมหารือ ณ ห้องประชุม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


         นายประภัตร กล่าวว่า ทั้ง 3 ฝ่าย ต่างมีความยินดีในการค้าโคเนื้อร่วมกัน แต่ไทยกับจีนยังไม่สามารถเจรจาการค้าได้โดยตรง จึงใช้บริษัทของลาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกจากจีนเป็นตัวกลางในการส่งต่อโคเนื้อของไทย พร้อมกันนี้ จีนได้กำหนดคุณสมบัติของโคที่จะรับซื้อ จะต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 - 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่งออก วันละ 2,000 ตัว โดยลาวจะนำโคจากไทยไปเลี้ยงต่ออีก 45 วัน ที่คอกโคขุนเพื่อเตรียมน้ำหนักของโค จากนั้นเข้าคอกกักกันโรคอีก 30 วัน รวม 75 วัน จึงจะสามารถส่งข้ามไปจีนได้ ทั้งนี้ จีนมีความต้องการเนื้อโคสำหรับบริโภคในประเทศอีกราว 9 ล้านตัน หรือคิดเป็นโคมีชีวิต ประมาณ 40 ล้านตัวต่อปี

 

         รมช.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้แทนฝั่งไทยในการเจรจารายละเอียดความร่วมมือต่อไป ซึ่งกรมปศุสัตว์ไทยและกรมปศุสัตว์ลาวจะร่วมมือกันในการตรวจรับรองคอกโคขุน และคอกกักกันโรคในฝั่งไทยก่อนมีการส่งออก อีกทั้งเน้นย้ำให้มีมาตรการในการตรวจโรคสำคัญ อาทิ โรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งจีนได้เข้มงวดในการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาด นอกจากนี้กรมปศุสัตว์จะเริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมของเกษตรกร โดยสร้างการรับรู้ที่ดี ปรับปรุงระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้น้ำหนักวัวได้มาตรฐานผลิตจากฟาร์ม GAP หรือฟาร์มปลอดโรค ของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น


         "สำหรับบทบาทหน้าที่ของไทย จะวางแผนเตรียมการในกระบวนการผลิต การรวมกลุ่มเกษตรกร หาพื้นที่เพื่อวางฐานการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้มีนโยบายที่จะให้มีคอกขุนกลาง เลี้ยงโคจำนวน 1,000 ตัวในพื้นที่เป้าหมายแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นทั้งคอกขุนในช่วงที่ต้องเพิ่มน้ำหนักโคให้ได้ตามคุณสมบัติที่จีนกำหนด ขณะเดียวกันต้องเป็นคอกมาตรฐานกักกันโรค และได้มารตฐานฟาร์มโคเนื้อเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศอีกด้วย" นายประภัตร กล่าว