ดร.ธรณ์ ตั้งเป้าเพิ่มพะยูนไทยร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี

         จากการเสียชีวิตของ "มาเรียม" พะยูนน้อยวัย 9 เดือน ที่มีสาเหตุมาจากเศษขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันในลำไส้ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์พะยูนไทยสำรวจพบมากที่สุดในจังหวัดตรัง ประมาณ 200 ตัว หากรวมกับพื้นที่อื่นทั่วประเทศมีประมาณ 250 ตัว ในปีนี้พบพะยูนเกยตื้น 16 ตัว ตายไปแล้ว 15 ตัว รวมมาเรียมด้วย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีที่พบการตายเพียงปีละ 10-12 ตัว ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมาก สาเหตุสำคัญมาจากเครื่องมือประมงร้อยละ 90 รองลงมาเป็นผลจากขยะพลาสติก
         ทั้งนี้ในการประชุมคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการเสนอแผนพะยูนโมเดล ตั้ง 3 เป้าหมาย คือ 1.แผนจัดการพื้นที่แหล่งอาศัยของพะยูน 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเสนอลดหรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อการอาศัยของพะยูนให้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อลดการสูญเสียจากเดิมร้อยละ 50 ควบคู่กับการช่วยเหลือให้ชาวประมงอยู่ได้อย่างความยั่งยืน และเป็นแนวร่วมในการดูแลพะยูน

 

         2.แผนดูแลพะยูนในแหล่งธรรมชาติทั้งหมด ตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะต้องเพิ่มจำนวนพะยูนให้ได้ร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้มีประชากรเพิ่มเป็น 375 ตัว 
         3.แผนมาเรียมโปรเจกต์ จะเสนอต่อ ครม. ให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันพะยูนแห่งชาติ มีกิจกรรมอนุรักษ์พะยูน ลดการใช้การทิ้งขยะพลาสติก รวมทั้งเสนอตั้งกองทุนมาเรียม ส่งเสริมการอนุรักษ์พะยูนในทุกด้าน พร้อมจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งร้อยละ 80 มาจากบกลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเล ทุกคนจึงมีส่วนในการผลิตขยะทะเลทั้งนั้น ทั้งหมดนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการทะเลแห่งชาติพิจารณาต่อไป


         นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสำรวจหญ้าทะเลบริเวณเกาะไม้งาม ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เบื้องต้นพบหญ้าทะเลใบพาย และร่องรอยการกินของพะยูน จึงเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหากินของฝูงพะยูนอีกหนึ่งแหล่งของ จ.กระบี่ การสำรวจครั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า การสำรวจตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบัน พบพะยูนเกยตื้นในทะเลไทยแล้ว 441 ตัว พบมากสุดที่ จ.ตรัง รองลงมาคือ กระบี่ พังงา ระยอง และภูเก็ต ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่น่าเป็นห่วง

ภาพจากเพจ ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช