ใช้อ่างเก็บน้ำดอยงูเป็นแม่แบบ

ใช้อ่างเก็บน้ำดอยงูเป็นแม่แบบ
โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

         สำนักงานชลประทานที่ 2 อาศัยความสำเร็จโครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู จ.เชียงราย เป็นแม่แบบขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ส่งน้ำและบำรุงรักษา 4 จังหวัด ทั้งเชียงราย พะเยา น่าน และลำปาง
         กรมชลประทานกำหนดให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกรม เพราะตระหนักดีว่าความสำเร็จของการชลประทานไม่อาจเกิดขึ้นได้ยั่งยืนหากประชาชนไม่มีส่วนร่วม ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำในเบื้องต้น การบริหารจัดการน้ำในเบื้องกลาง และการบำรุงรักษาอาคารชลประทานในเบื้องปลาย
         บริบทในอดีตที่เป็นคำสั่งปฏิบัติจากบนลงสู่ล่าง (Top Down) อย่างเดียวแบบเดิมๆ ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันแล้วที่ต้องมีมาจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน (Bottom Up) หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย


         เหนืออื่นใด กำลังของกรม ไม่ว่า ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ถดถอยลงเรื่อยๆ เทียบกับพื้นที่ที่ต้องดูแล ยกตัวอย่าง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแห่งหนึ่งมีพื้นที่ส่งน้ำชลประทานนับแสนไร่ แต่มีอัตรากำลังเพียง 5-10 คน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะดูแลพื้นที่และเกษตรกรได้ครบถ้วน
         "เดิมที เจ้าหน้าที่กรมชลประทานทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ วางแผนการใช้น้ำสำหรับพืชแต่ละอย่าง กระทั่งเปิดปิดบานประตูน้ำ และ ฯลฯ เป็นการคิดแทนเกษตรกร คิดเองทำเองไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร" นายสมจิต อำนาจศาล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 2 เล่าความเป็นมา
         แม้กรมชลประทานหาทางออกด้วยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทต่างๆ ขี้นมา เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งได้ผลดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำโดยรวมถือว่ายังไม่ดีนัก ยังคงมีการแย่งชิงน้ำ ใช้น้ำมากเกินความจำเป็น ไม่สนใจปัญหาของพื้นที่ปลายน้ำที่น้ำไปไม่ถึง และ ฯลฯ

 

         แต่สำนักงานชลประทานที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงราย พะเยา น่าน และลำปาง ยังไม่ยอมแพ้ อาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน ช่วยขับเคลื่อนอีกแรงหนึ่ง
         "เราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเข้าไปตามโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ซึ่งเริ่มได้ผลตามลำดับ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งได้รับรางวัลการมีส่วนร่วมระดับประเทศ และเกษตรกรต่างมีความภูมิใจในตัวเอง" นายสมจิตกล่าว "เขาเข้มแข็งถึงขั้นบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง หาความต้องการน้ำ จัดสรรน้ำ ติดตามผล รวมถึงการซ่อมบำรุงอาคารชลประทาน ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เขาจัดการซ่อมแซมเองเลย ไม่รองบประมาณจากกรมชลประทาน ซึ่งจะล่าช้าไม่ทันการ"


         นายสมจิตกล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 2 จึงอาศัยความสำเร็จการมีส่วนร่วมของเกษตรกรของอ่างเก็บน้ำดอยงูเป็นแม่แบบในการขยายผลไปยังโครงการอื่นๆ อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำแหง จ.น่าน อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำและอ่างเก็บน้ำแม่ปืม จ.พะเยา และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางใน จ.ลำปาง
         "อย่างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฝายแม่ลาวที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สรวย เริ่มต้นที่ฝายแม่ลาวก่อน ตอนนี้ขยายไปฝายวรการบัญชา ฝายถ้ำวอก และฝายชัยสมบัติ ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิมนับแสนๆ ไร่"
         อย่างไรก็ตาม การต่อยอดโครงการดอยงูนั้น มุ่งเน้นกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งเป็นกลุ่มแรก ซึ่งมีโอกาสพัฒนาต่อยอดและประสบความสำเร็จได้


         "พอสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นค่อยๆ พัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งตาม เพราะการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเป็นการระเบิดจากภายใน โดยกรมชลประทานเป็นเพียงพี่เลี้ยงในจุดเริ่มต้นเท่านั้น" นายสมจิตกล่าว
         โครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับส่งน้ำให้ฝายท้ายน้ำ 4 แห่ง ซึ่งประสบปัญหาน้ำไม่พอ เกิดการแย่งชิงทะเลาะกันเรื่อยมา กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและโครงการชลประทานเชียงรายร่วมกันขับเคลื่อน โดยการจัดทำประวัติศาสตร์ชุมชน การจัดทำแผนที่ทำมือ ทั้งผ่านเวทีประชุมและการลงภาคสนามร่วมแก้ปัญหาเรื่องน้ำจนเป็นผลสำเร็จ สามารถจัดสรรน้ำให้ทุกพื้นที่โครงการได้ทั่วถึง ลดความขัดแย้งในพื้นที่ กลับกันทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในตัว