นวัตกรรมจากยางพารา สู่ "ที่นอนน้ำเพื่อสุขภาพ"

         ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการผลิตที่นอนน้ำเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับ พร้อมจับคู่ธุรกิจผลิตจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม
         นายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ จากเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมเอ็มเทคได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด เคทีซี ที่นอนน้ำ ซึ่งมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ต้องการพัฒนาและแก้ปัญหาเกี่ยวกับการผลิตที่นอนน้ำสำหรับผู้ป่วยแผลกดทับ ซึ่งแต่เดิมได้ทดลองนำถุงปัสสาวะที่ยังไม่ได้ใช้งานมาบรรจุน้ำขนาดเท่ากับกระดาษ A4 จำนวนหลายถุง และนำไปใช้กับผู้ป่วยแผลกดทับเพื่อทดลองนอน


         ผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากถุงน้ำที่ทำขึ้นนั้นสามารถชะลอการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยได้ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดทำเป็นต้นแบบที่นอนน้ำโดยใช้วัสดุจากยางพารานำมาผลิตเป็นถุงน้ำลักษณะคล้ายกระเป๋าน้ำร้อนแทนถุงปัสสาวะ แต่เมื่อผู้ประกอบการผลิตใช้งานกับผู้ป่วยได้ระยะหนึ่งก็พบปัญหา คือถุงน้ำที่ทำจากยางพารามีการรั่วแตกไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการ จากนั้นผู้ประกอบการได้เข้ามาปรึกษากับทางเอ็มเทค และทีมวิจัยได้วิเคราะห์ถึงปัญหาแล้วพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตถุงน้ำซ้ำได้ ถึงแม้ว่าจะผลิตซ้ำได้ก็ยังเจอปัญหารั่วแตกเหมือนเดิม ทีมวิจัยจึงเข้าไปช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยเทคโนโลยีของเอ็มเทค สวทช.

 

         นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถผลิตถุงน้ำได้เองอยู่แล้ว แต่อายุการใช้งานสั้นและเกิดปัญหาการแตกรั่ว ประกอบกับการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีของเสียเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงสะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อทีมวิจัยทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้หารือร่วมกับทีมวิจัยวัสดุยางและการขึ้นรูปขั้นสูง ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของเอ็มเทคที่มีประสบการณ์และมีเครือข่ายด้านยางพารา จนได้ข้อสรุปโดยปรับเปลี่ยนตั้งแต่การใช้วัสดุยางพาราแบบ Food Grade การออกแบบแม่พิมพ์ วิธีการซีลฝาเปิด-ปิด การทดสอบอุณหภูมิ และความดันของแรงกดทับ โดยหนึ่งลอนน้ำทดสอบแรงกดทับที่ 120 กิโลกรัม จนแน่ใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและได้มาตรฐานตามที่ต้องการ


         นางกานต์ชนิต เทอดโยธิน ผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด เคทีซี ที่นอนน้ำ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยติดเตียงเป็นผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวได้น้อย นอนนาน จึงเสี่ยงต่อการมีแผลกดทับและมีค่ารักษาสูงมาก ดังนั้น จึงคิดศึกษาที่นอนน้ำของในต่างประเทศ พบว่าที่นอนน้ำมีคุณสมบัติป้องกันแผลกดทับได้ดี จึงนำเอามาปรับใช้ในบริบทของเราโดยใช้ถุงปัสสาวะที่ยังไม่ใช้มาทำเป็นที่นอนน้ำให้กับคนไข้ซึ่งป้องกันแผลกดทับได้ แต่อายุการใช้งานของวัสดุจะสั้น จึงมีแนวคิดในการพัฒนาวัสดุยางพาราให้เป็นลอนหรือถุงใส่น้ำแทนถุงปัสสาวะ โดยได้เข้าไปติดต่อการยางแห่งประเทศไทยให้ทำเป็นลอนใส่น้ำมาต่อกันให้เป็นที่นอน แต่พบปัญหาว่าลอนน้ำสั้นไปจึงทำให้เกิดร่อง เมื่อผู้ป่วยติดเตียงใช้งานแล้วเกิดปัสสาวะล้นก็จะทำให้เกิดความอับชื้น และเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ หลังจากทีมวิจัยได้พัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วจึงได้ลอนน้ำที่มีความยาวตามมาตรฐาน ทนทาน และมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อนำไปใช้งานกับผู้ป่วยพบว่าที่นอนน้ำมีคุณสมบัติในการลดแรงกดทับในผู้ป่วยที่นอนนาน ทำให้ไม่เกิดแผลกดทับ ระบายความร้อน ระบบไหลเวียนผู้ป่วยดีขึ้น ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และยังลดภาระของผู้ดูแลผู้ป่วยที่จะต้องคอยพลิกตะแคงท่าของผู้ป่วยติดเตียงที่นอนนาน และประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมากอีกด้วย


         นอกจากการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว เอ็มเทค สวทช. ยังได้จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเคทีซี และบริษัท กังวาลอุตสาหกรรมยาง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการขึ้นรูปท่อยางผลิตที่นอนน้ำเพื่อสุขภาพ เพื่อผลิตจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะนี้มีผู้ป่วยใช้งานแล้วหลายร้อยชุด ผู้สนใจสามารถสอบถามที่ โทร. 088-813-8893 หรือ 081-532-7137

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก สวทช. https://www.nstda.or.th