วังหว้า แถวหน้าทุเรียนระยอง

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

วังหว้า แถวหน้าทุเรียนระยอง

 

         วังหว้า เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง

         ขับรถในเส้นทางหลักบ้านบึง-แกลง ผ่านป่าผ่านบ้านเรือนสองข้างทางไป โดยไม่รู้ว่าถ้าลองแวะเข้าไปตามถนนสายรอง จะพบสวนทุเรียน ต.วังหว้า นั่นก็ทุเรียน นี่ก็ทุเรียน รวมแล้วกว่า 5,000 ไร่จากพื้นที่ของตำบล 30,000 กว่าไร่ คิดเป็น 15% โดยประมาณ นอกนั้นเป็นพืชหลัก คือยางพารา

         กระแสลมกำลังตีกลับ คนวังหว้าปลูกทุเรียนมากขึ้น เท่ากับที่โค่นต้นยางพาราทิ้ง เพราะราคายางตกต่ำน่าใจหาย ในขณะราคาทุเรียนปีนี้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาทดีเหลือเกิน

         วังหว้าเป็นวังทุเรียนกลายๆแล้ว สวนทุเรียน 1 ไร่ปลูกต้นทุเรียนได้ 20 ต้น ชาวบ้านเฉลี่ยมูลค่าผลผลิตต้นละ 15,000 บาท เท่ากับสร้างมูลค่า 300,000 บาท/ไร่ เมื่อคำนวณเข้ากับจำนวน 5,000 ไร่ที่ปลูกทุเรียนก็มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

         มีสวนทุเรียน 5 ไร่ เป็นเศรษฐีหยิบเงินล้านกันหลายราย

         วังหว้า จึงเป็นตำบลต้นๆที่อยู่แถวหน้าในการผลิตทุเรียนของอ.แกลงและของจ.ระยอง

         ระยองนั้นแม้ผลผลิตจะไม่มากเท่าจันทบุรี แต่รสชาติทุเรียนอร่อยกว่า เพราะฝนพอดีๆ ไม่มากเท่าจันทบุรีที่ทำให้ไส้ซึม ในขณะปราจีนบุรีฉีกไปทำทุเรียนGIหรือสิ่งบ่งชี้แหล่งกำเนิด

         ความสำเร็จของวังหว้า มาจากเหตุปัจจัยหลายประการ

         น้ำ ปัจจัยการผลิตสำคัญ วังหว้าเดิมทีมีเฉพาะคลองวังหว้ากับสระเก็บน้ำหนองกวางเท่านั้น พอฤดูแล้งซึ่งตรงกับผลผลิตทุเรียนกำลังออกพอดี น้ำก็ขอดแห้ง คนวังหว้าน้ำก็ไหลออกตาแทน พอมีอ่างเก็บน้ำเขื่อนประแสร์เกิดขึ้น วังหว้าก็ได้รับอานิสงส์จากระบบท่อ

         มีน้ำแล้วอย่านึกว่า ปัญหาหมด ที่ไหนได้ก็ยังคงทะเลาะ แย่งน้ำเข้าสวนตัวเอง ต้นน้ำได้กลางน้ำกับปลายน้ำอด ผู้ใหญ่ประพัฒน์ จันทร์พราหมณ์ บอกว่าตัวเองอยู่ต้นน้ำ ไม่รู้เลยว่า ปลายน้ำต้องเด็ดลูกทุเรียนทิ้งเพื่อรักษาต้นแม่ไว้ พอรู้เรื่องเข้าก็น้ำตาซึม ต่อมาอาสาเข้ามาเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำวังหว้า เพื่อทำให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น

         สำหรับทุเรียนแล้ว น้ำสำคัญมาก เป็นพืชชอบชื้น ไม่ชอบแฉะ และช่วงติดผลตั้งแต่มกราคม-เมษายน ต้องการน้ำมาก การมีแหล่งน้ำที่มั่นคงอย่างอ่างเก็บน้ำประแสร์จึงมีความหมายยิ่ง

         กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงสำคัญยิ่ง จะให้มีส่วนร่วมต้องอาศัยประชารัฐคือประชาชน+เจ้าหน้าที่รัฐ ในที่นี้คือกรมชลประทาน เป็นโชคของวังหว้าที่มีนายพรชัย พ้นชั่ว เป็นผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำฯประแสร์ เมื่อกว่า 2 ปีก่อน พร้อมใจเต็มร้อยในการแก้ปัญหา ตรงไหนน้ำไม่ถึงก็ลุยไปถึงและสั่งการแก้ไขกันตรงนั้น ชาวบ้านเอากระสอบทรายกั้นเป็นฝาย ก็ขอร้องให้รื้อออกให้น้ำไหลลงด้านล่างได้ โดยรับปากพร้อมส่งน้ำมาให้จนกว่าจะได้รับกันถ้วนถึง บางครั้งทั้งวันทั้งคืนและหลายวัน บางทีค่ำมืดแล้ว ผอ.พรชัยยังคงนั่งคุยกับเกษตรกร เพื่อรอคอยเวลาน้ำเดินทางมาถึงให้เห็นด้วยกัน

         เมื่อผอ.โครงการส่งน้ำฯประแสร์เอาจริง น้ำที่เคยถึงมั่งไม่ถึงมั่งก็ถึงกันทั้งสาย ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกอบต.ตลอดจนส่วนราชการในพื้นที่ล้วนเอาด้วยหมด เป็นประชารัฐสมบูรณ์แบบ เพราะถ้าแก้ไขปัญหาน้ำให้เกษตรกรได้ ปัญหาอื่นก็เบาบาง

         ในขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรวังหว้าก็เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เห็นอกเห็นใจกันแบ่งปันน้ำกัน โดยจัดรอบเวรส่งน้ำ และร่วมกันดูแลรักษาอาคารชลประทาน รวมทั้งแจ้งข่าวสารผ่าน Line Group มีตารางการส่งน้ำ แจ้งเวลาเปิดน้ำ น้ำไปถึงไหน น้ำพอหรือยัง ปิดน้ำได้แล้ว มีจุดอื่นเดือดร้อนจัดส่งให้ก่อนฯลฯ

         จึงไม่แปลกที่กลุ่มผู้ใช้น้ำวังหว้าได้รับการคัดเลือกเข้าไปประกวดสถาบันผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2561 และเป็น 1 ใน 6 กลุ่ม ที่ผ่านการตัดตัวรอบแรกไปแล้ว

         นอกจากผลผลิตและมูลค่าทุเรียนมหาศาลแล้ว วังหว้ายังมีล้งหรือผู้รวบรวมทุเรียนส่งออกที่เป็นคนวังหว้า 2 รายพี่น้อง โดยผู้ใหญ่เพ็ญศรี จันทร ส่งออกมากที่สุดปีละร่วม1,000 ตัน มูลค่าราวๆ 200-300ล้านบาท โดยมีตลาดจีน ไต้หวัน บรูไน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง แต่ตอนนี้ก้านยาวกับพวงมณีก็มีสั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

         "ขายดีมาก รับซื้อจากเรากิโลละ 200 กว่าบาท แต่ไปขายปลีกในตลาดจีนกิโลละ 2,000 บาท" ผู้ใหญ่เพ็ญศรีเล่า ท่ามกลางเสียงอุทานของคนฟัง

         ส่วนตัวของผู้ใหญ่เพ็ญศรีมีปลูกอยู่แล้ว 3,000 ต้นให้ผลผลิต 2,000 ต้น และขยายพื้นที่ปลูกพร้อมๆกับญาติรวมๆแล้ว 10,000 ต้นประมาณ 500 ไร่

         ทุเรียนและน้ำ ทำให้ราคาที่ดินในวังหว้าสูงพรวด ที่ดินเปล่าไม่มีไม้ผลขายตั้งแต่ไร่ละ 400,000 บาทวิ่งขึ้นไปถึง 2,000,000 บาท เป็นเรื่องที่ชวนให้มหัศจรรย์ใจ พอๆกับผลผลิตทุเรียนที่นี่มีขายตั้งแต่มกราคมจนถึงกลางกรกฎาคมก็ยังไม่สิ้น

         อ่างเก็บน้ำประแสร์ ความจุเกือบ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็นชีวิตเป็นวิญญาณของคนวังหว้าและคนแกลง เช่นเดียวกับคน อ.วังจันทร์และบางส่วนของอ.เขาชะเมา แถมยังส่งไปเติมอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง เพื่อช่วยภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในจ.ระยองและจ.ชลบุรี

         ระยอง จึงเป็นเมืองสามขาเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ ทั้งภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม เป็นความแข็งแกร่งที่ยากหาที่ใดเสมอเหมือน