ไม่มีคำตอบ แม้ในสายลม

ไม่มีคำตอบ แม้ในสายลม

โดย : ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

         ท่ามกลางการโหมโจมตีการใช้สารเคมีเกษตรอย่างเป็นกระบวนการ จากฝีมือองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)
         ทว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้าน "วิชาการ" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับแสดงท่าทีนิ่งเฉย หรือหากชี้แจงก็กระทำกันอย่างขอไปที
         สิ่งที่เอ็นจีโอไทยต้องการมากที่สุดคือการห้ามใช้ และยกเลิกการขึ้นทะเบียนของสารเคมีเกษตร 3 ตัว ได้แก่สารกำจัดวัชพืช 2 ตัวคือพาราควอตกับไกลโฟเสท และสารกำจัดแมลงคือคลอไพริฟอส
         อันที่จริง โทษ (Ban) เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มันอันตรายจริง แต่นิยามอันตรายคือต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หาใช่การมโนหรือเอาข้อมูลที่ไม่ปรากฏกระบวนการทดสอบชัดเจนมาเป็นตัวกำหนดความเป็นความตายของคนอื่นอย่างที่เอ็นจีโอทำอยู่ฝ่ายเดียว
         ต่อให้ Ban มากจำนวนกว่านี้ ก็คงไม่มีใครเดือดร้อน เพราะหาก Ban กรมวิชาการเกษตรก็ต้องหาสารเคมีทดแทนสำหรับเป็นเครื่องมือของเกษตรกรป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่า โรค แมลงหรือวัชพืช
         ใครจะแยแสว่า พาราควอตเป็นของบริษัทซินเจนทา ไกลโฟเสทเป็นของบริษัทมอนซานโต้ และคลอไพริฟอสเป็นของดาว เคมิคอล เพราะเป็นของต่างชาติ หรือต่อให้เป็นของคนไทยก็ตาม
         ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ข้ออ้างว่าสารเหล่านี้ปนเปื้อนเป็นอันตราย มันพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่จริงต่างหาก
         ลำพังสารเคมี มันก็อันตรายทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่อันตรายจากการใช้ผิดประเภท เช่น กินฆ่าตัวตาย อันนั้นใครก็ห้ามไม่ได้ เช่นเดียวกับ มีดหรือปืนจะใช้เชือดคอหรือลั่นไกฆ่าตัวตายก็สุดจะห้ามได้ทุกเวลา
         แต่อันตรายที่เอ็นจีโอระบุว่า พบพาราควอตในพืชผักก็ดี ไกลโฟเสทซึมลงในแหล่งน้ำสร้างปัญหาให้สิ่งมีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมในน้ำก็ดี เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดแจ้งชนิดปฏิเสธไม่ได้ ไม่ใช่เป็นการพิสูจน์โดยตัวเองประเภทชงเอง ตีความเอง กินเอง
         เอ็นจีโอนั้นมีธงในใจที่จะBan สารเคมีเกษตร 3 ตัวข้างต้น
         1.นับแต่ยืมมือกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย โดยมีเครือข่ายเอ็นจีโออยู่ในคณะกรรมการหลายคน
         2.เมื่อกระทรวงสาธารณสุขถูกตอบโต้ว่า ดูยาคนแล้วมาดูยาพืช อีกหน่อยกระทรวงเกษตรฯที่ดูแลพืชจะขอดูยาคนบ้างได้ไหม กระทรวงสาธารณสุขจะว่ายังไง บรรดาหมอๆบางคนน่าจะมีความละอายอยู่บ้างกระมัง เรื่องเลยซาๆไป
         3.ปฏิบัติการล้วงคองูเห่า ด้วยการเคลื่อนไหวไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวเรือใหญ่ในการBan ซึ่งพบว่าปราการนี้อ่อนแอสามารถทะลุทะลวงได้ถึงขั้นผลักดันตั้งคณะทำงานพิจารณาสารเคมี 3 ตัว โดยมีเอ็นจีโอเป็นกรรมการหลายคน(อีกแล้ว)
         นี่ไงถึงเดาทางได้ว่า เอ็นจีโอถล่มถึงขั้นBanสารเคมี 3 ตัวแน่นอน ไม่นับแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ 20 ปี(พ.ศ.2561-2579)ที่ร่างกันอยู่โดยมีเอ็นจีโอเป็นกรรมการและแก่นแกนสำคัญ ว่ากันว่า มีการระบุให้Ban สารเคมีทั้ง 3 ตัวด้วย น่าเป็นแผนยุทธศาสตร์เดียวในโลกที่ระบุเช่นนี้
         โดยสรุป เอ็นจีโอต้องการ Ban สารเคมี 3 ตัวไม่ให้ได้ผุดได้เกิด และคงต่อเนื่องถึงตัวอื่นถึงขั้นให้ประเทศไทยเลิกใช้สารเคมีเกษตรโดยสิ้นเชิง
         คำถามคือผลกระทบจากข่าวที่โหมปาวๆกันทุกวัน (ไม่ใช่ข้อมูลแท้จริงทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย)
         1. ต่อผู้ประกอบการค้า พอมีข่าวจะBan เจ้าของสินค้าที่ขึ้นทะเบียนก็ต้องวิ่งแจ้นไปหาใครต่อใคร ส่วนจะหอบอะไรติดตัวไปด้วยคงเข้าใจกันได้
         2. ต่อเกษตรกร ในวิกฤตินั้นเป็นโอกาสเสมอ แต่ไม่ใช่เกษตรกรที่จะซวยซ้ำซาก
         2.1 ผู้ประกอบการค้าบางรายตุนสินค้าทันที เพราะเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรต้องการใช้ ราคาย่อมสูงขึ้น ฟันกำไรได้ทันที เหมือนคราวที่แล้วที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯของกระทรวงสาธารณสุขหวังดีโดยไม่รู้ว่าประสงค์ร้ายตามมาด้วย เมื่อออกข่าวจะBan ราคาสินค้า 3 ตัวขึ้นราคาทันที ผู้ประกอบการบางรายฟันกำไรทันที
         2.2 เตะหมูเข้าปากหมา Ban สาร 3 ตัวก็ต้องมีตัวทดแทนมาขึ้นทะเบียน ตรงนี้เอ็นจีโอคงลืมไปว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน เตะหมูผู้ประกอบการบางรายออกไป ผู้ประกอบการรายใหม่จากฝ่ายการเมืองก็รอคิวงาบอยู่ กลายเป็นเสียค่าโง่ไม่ได้แก้ปัญหาแท้จริงอีกเช่นกัน
         ดังเช่นมีสารบางตัวขึ้นทะเบียนเป็นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างมีเงื่อนงำ เพราะมีสารพาราควอตผสมอยู่ด้วย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ทั้งที่ผิดกฎหมายชัดๆ แม้ว่าท่านปัจจุบันจะไม่ใช่คนลงนาม แต่ก็ควรระวังหากมีการพิสูจน์พบ เพราะเรื่องนี้เคยเขียนถึงมาก่อนแล้วด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ตรวจสอบใดๆเลย
         เอ็นจีโอไทยเองก็ไม่คิดติดตามข้อมูล เพื่อนำตัวอดีตผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งปล่อยให้ขึ้นทะเบียนแหกตาชาวบ้าน ทีอย่างนี้ เอ็นจีโอทำไมไม่ทำหรือมีม่านอะไรบังตา?


         การที่เอ็นจีโอไทยขุดคุ้ยเรื่องสารเคมี 3 ตัว ภายนอกนั้นดูดี แต่อย่างที่ว่าคือทำร้ายเกษตรกรตั้งแต่สารเคมีที่คิดจะBan มีราคาสูงขึ้นทันที ทำร้ายเกษตรกรไหม ตามมาคือการออกข่าวว่า พืชผักผลไม้ไทยมีสาร
         พาราควอตตกค้างเท่านั้นเท่านี้ ทำร้ายการส่งออกของประเทศ โดยที่ตัวเองเข้าใจเอาเองว่ามีสารคกต้างแต่ฝ่ายเดียว
         ข่าวที่ขยันออกไปนั้น ไปถึงเมืองนอก ตลาดต่างประเทศที่ตั้งใจกีดกันการนำเข้า เขาเล่นเลย ส่วนที่ไม่คิดกีดกันเจอข่าวอย่างนี้เข้า ไม่คิดจะห้ามหรือเข้มงวดก็เข้มงวดหรือห้ามนำเข้าได้ทันทีเช่นกัน
         อย่างนี้หรือที่เรียกว่า รักประเทศ รักเกษตรกร
         แทนที่พบว่ามีสารตกค้างเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แล้วจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหาข้อเท็จจริง จะทดสอบ ทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็ว่ากันไป เพื่อหาข้อสรุปร่วมมากกว่าข้อสรุปใคร ข้อสรุปมัน ที่ไม่อาจหาความเป็นกลางได้อย่างที่เป็นมา
         ถ้าจะสรุปอีกครั้ง คือต่างฝ่ายต่างมีแผล ต่างฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายที่ไม่แน่ใจว่า เป็นผลประโยชน์ของประเทศ และเกษตรกรแท้จริงแต่ประการใด
         หากจะกล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง น่าจะละอายว่าปล่อยให้ข่าวคราวอย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อย่างไร โดยไม่รู้จักหาวิธีแก้ไขหรือปรับปรุงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ
         ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ ก็น่าจะยุบกรมทิ้ง หรือไม่ก็เปลี่ยนผู้บริหารกรมเสียจะง่ายกว่า