กระสุนนัดเดียวได้นกยกฝูง

กระสุนนัดเดียวได้นกยกฝูง

การพัฒนาแหล่งน้ำรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

         เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

         อุตสาหกรรมเองก็ต้องการใช้น้ำ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรมหนักหรือเบา ดังนั้นเมื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นที่ใด รัฐบาลก็ต้องจัดหาแหล่งน้ำป้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ส่วนใหญ่จะผ่านการประปาส่วนภูมิภาคอีกทอดหนึ่ง

         แหล่งน้ำต้นทุน ต้องพึ่งพาเจ้าประจำอย่างกรมชลประทานที่มีความเชี่ยวชาญ ความพร้อมมากกว่าใครอื่น และยังต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งน้ำในระบบลุ่มน้ำด้วย

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนนั้น ส่วนใหญ่เป็นอ่างฯ เอนกประสงค์ ใช้ในหลายกิจกรรม ดังนั้น แม้จะออกแบบเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่รัฐบาลกำหนดมา แต่ในอีกด้านหนึ่ง กรมชลประทานก็พิจารณาควบคู่ว่า จะใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ ด้วยอย่างไร โดยเฉพาะด้านการเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรไทย

         "การพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน โดยภารกิจแล้วเป็นเรื่องการเกษตรอยู่แล้ว เมื่อจะใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะวางแผนควบคู่ไปด้วยกัน ในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำอย่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ขณะที่การใช้น้ำในส่วนของเกษตรกรเองก็จะจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำควบคู่ไปด้วยเพื่อพูดคุยกัน ไม่ให้เกิดปัญหาเผชิญหน้าเหมือนอย่างในอดีต"

         ในอดีตเกิดความขัดแย้งเรื่องน้ำฤดูแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกระหว่างเกษตรกรกับโรงงานในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก แม้ในภายหลังเมื่อต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี 4 แห่ง เกษตรกรในพื้นที่เรียกร้องขอให้จัดหาน้ำให้ภาคเกษตรกรรมก่อนที่จะไปช่วยภาคอุตสาหกรรม

         "ต้องทำควบคู่กันไปจะได้ไม่เกิดปัญหาทีหลัง การส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อวางแผนพัฒนาและจัดสรรน้ำร่วมกับภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นมือ ไม่อย่างนั้นเกิดปัญหาขัดแย้งตามมาแน่นอน" ดร.สมเกียรติกล่าว

         เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ระมาด อ.แม่สอด และ อ.พบพระ รวมแล้ว 2,182 ไร่ ส่วนที่ต้องการใช้น้ำมากสุดจะเป็น อ.แม่สอด ซึ่งปัจจุบัน การประปาส่วนภูมิภาคอาศัยน้ำจากแม่น้ำเมยป้อนความต้องการได้ประมาณปีละ 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และกำลังเพิ่มกำลังผลิตเป็น 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเชื่อว่าไม่พอกับความต้องการในอนาคต เช่นเดียวกับในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

         ขณะเดียวกัน กรมชลประทานก็พัฒนาอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบน ความจุ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อตอบสนองทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและภาคเกษตรกรรม พร้อมๆ กับการศึกษาหาตัวเลขความต้องการน้ำใน 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำไปด้วย

         "แหล่งน้ำหลักของแม่สอด คือห้วยแม่ละเมา ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำเมย กรมชลประทานกำลังศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำรวม 3 แห่ง ในระหว่างนั้น ก็ต้องเตรียมการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ที่พัฒนาได้เร็ว ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อให้ทันกับความต้องการในระยะนั้นๆ ก่อน เช่น การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแม่สอดตอนบนประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือการปรับปรุงฝายบ้านวังผาในห้วยแม่ละเมา เป็นต้น"

         ดูตามรูปรอย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว หากยังเกิดอานิสงส์ต่อภาคเกษตรกรรมไปในตัวด้วย แถมยังลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำเสียแต่ต้นมือ

         เท่ากับกระสุนนัดเดียวยิงนกได้ทั้งฝูง