จากบางระกำถึงลุ่มเจ้าพระยา

 

จากบางระกำถึงลุ่มเจ้าพระยา

ปรับแนวทางรองรับการขยายพื้นที่แก้มลิง

โดย - ปรีชา อภิวัฒนกุล

         พื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานวางแผนเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำชั่วคราวในฤดูน้ำหลากปี 2560 เป็นปีแรก ทั้งบริเวณทุ่งบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มเจ้าพระยา 12 แห่ง รวมความจุประมาณ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น

         เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น แต่ความที่เป็นปีแรกมีบางอย่างที่อาจหลุดไปบ้าง ผลกระทบเกินกว่าคาดการณ์ไปบ้าง

         "ผมได้แต่งตั้งคณะทำงานประเมินผลรอบด้าน ทุกมิติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในฤดูน้ำหลากปีหน้าให้ดียิ่งขึ้น" ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

         ยกตัวอย่าง พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำตั้งเป้าว่า จะเก็บน้ำไว้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เอาเข้าจริงมีน้ำเข้ามามากถึง 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลกระทบเพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาคือคณะทำงานต้องลงพื้นที่ไปสำรวจและวางแผนให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง โดยเอาเหตุการณ์น้ำหลากปีนี้มาเป็นฐานในการทำงานในปีหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

         "เราจะช่วยแก้ปัญหาช่วงน้ำหลากท่วมให้ชาวบ้านดีขึ้นได้อย่างไร เช่น กรณีน้ำท่วมสูง เข้า-ออก ไม่ได้ ต้องสร้างสะพานชั่วคราวหรือใช้เครื่องมืออื่นก็ต้องคิดกัน และต้องรีบสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไข เพราะได้วางแนวทางไว้แล้วว่า ถึงจะเป็นแก้มลิง ชาวบ้านก็ยังคงใช้ชีวิตได้ เช่น สามารถสัญจรไปไหนมาไหนได้ ท่วมเฉพาะที่นาซึ่งจะแปลงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำแทน"

         แม้ว่าน้ำหลากท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำอาจเป็นผลกระทบด้านลบบ้าง แต่ในอีกทางหนึ่ง น้ำท่วมได้สร้างโอกาสใหม่ทดแทน โดยเฉพาะเรื่องการจับปลาในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นแก้มลิงดังกล่าว ซึ่งเป็นอาชีพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุน เพราะเดิมทีในขณะที่ยังไม่ประกาศเป็นนโยบายให้ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง ชาวบ้านจะจับปลาก็ต้องไปในจุดที่มีน้ำท่วมตามสภาพ ไม่เหมือนปัจจุบันที่ชัดเจนว่า พื้นที่ลุ่มต่ำตรงไหนที่ทำเป็นแก้มลิงก็จับปลาเป็นล่ำเป็นสันได้ โดยกรมประมงเองนำพันธุ์ปลาไปปล่อยสมทบด้วย

         ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้จากการจับปลาเปรียบเทียบไร่ต่อไร่ จะมากกว่าการปลูกข้าว ขณะนี้กำลังรอตัวเลขปริมาณและมูลค่าปลาในแก้มลิงดังกล่าว ซึ่งปลายเดือนพฤศจิกายนน่าจะได้เวลาเริ่มลงมือจับปลากันแล้ว

         ปกติพื้นที่ลุ่มต่ำจะมีน้ำท่วมขัง แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ แต่ปี 2560 เป็นปีแรกที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นแก้มลิง โดยปรับปฏิทินการผลิตให้เร็วขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงและสร้างความเสียหาย โดยเริ่มปลูกราวๆ เดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวไม่เกินกลางเดือนกันยายน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากปลา นอกเหนือจากรายได้จากข้าวก่อนหน้านั้น ในขณะที่รัฐบาลเองไม่ต้องควักเงินงบประมาณชดเชย แถมแก้มลิงช่วยตัดยอดน้ำหลากได้ชั่วคราว และใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งที่มาถึง ทำให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้อีกฤดูหนึ่ง ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายทาง

         ขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงในฤดูน้ำหลากหน้า โดยสรุปประเมินผลจากการดำเนินการในฤดูน้ำหลากปีนี้ ซึ่งกรมชลประทานมีข้อมูลพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เคยทำการศึกษาสำรวจมาก่อน