ทุเรียน เหมา ซาน คิง ม่านมายาจากแรงลมเป่า

ทุเรียน เหมา ซาน คิง

ม่านมายาจากแรงลมเป่า

โดย ปรีชา อภิวัฒนกุล

 

 

         สังคมทุเรียนไทยกำลังไหวสั่นจากทุเรียนสายพันธุ์ใหม่จากมาเลเซีย เหมา ซาน คิง ที่มีมากชื่อ

         เป็นพันธุ์พื้นบ้านและได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนเป็นพันธุ์ยอดนิยมของมาเลเซียคล้ายหมอนทองของไทย จากชื่อพื้นบ้านคุนยิต กลายเป็นราชาคุนยิต แล้วเป็นมูซังคิง ราชาแห่งแมวป่า แล้วเพี้ยนตามลิ้นคนจีนเป็นเหมาซาน คิง เหมา ซาน หว่อง กระทั่ง เหลืองขมิ้นตามที่คนยะลาเรียก เนื่องจากเนื้อมีสีเหลืองเข้มคล้ายขมิ้น

         จากทุเรียนยอดนิยมของคนจีนมาเลย์ เลยไปสิงคโปร์ แล้วไปไกลถึงจีน แหล่งบริโภคใหญ่ที่ชื่นชอบทุเรียนมาก

         เหมา ซาน คิง ได้รับการกล่าวขาน อย่างแรกต้องเป็นเรื่องรสชาติต้องลิ้นคนจีน อย่างสอง ผลผลิตน้อย เพราะสภาพภูมิอากาศของมาเลเซียฝนชุกกระทบต่อผลผลิต ที่ผ่านมา จึงเป็นพืชแซมในสวน พอราคาดีคนมาเลย์คงขยายพื้นที่ปลูก ตอนนี้คนไทยเองที่ อ.เบตง จ.ยะลา ก็นำพันธุ์เหมา ซาน คิง มาปลูกในพื้นที่รวมๆ 1,600 ไร่และเริ่มให้ผลผลิตกันแล้ว

         ราคาตลาดก่อน ข้อมูลในมาเลย์ขายปลีกกิโลละ 800 บาท (100 ริงกิต) ในขณะรัฐบาลมาเลย์ประกันราคาที่ 600 บาท (80 ริงกิต)

         ราคาปลีกในตลาดเมืองจีน กิโลละ 1,000-2,000 บาท ฟังมาจากปากล้งทุเรียนเจ้าใหญ่ใน จ.ระยอง เห็นราคาอย่างนี้ เธอจึงขยายปลูกเหมา ซาน คิง เริ่มที่ 500 ไร่ เข้าใจว่าเกษตรกรรายอื่นๆก็ตาลุกวาวเช่นกัน เพราะราคาหน้าสวนขายกันที่กิโลละ 300-400 บาท

         มาถึงราคากิ่งพันธุ์บ้าง ขายกันที่ 260 บาท/ต้น ไล่ถึง 500 บาท ถามว่าแพงไหม ตอบได้ว่าแพง แต่ก็แพงสู้กิ่งพันธุ์ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบสวนคุณไพบูลย์ที่ระยองไม่ได้ ขายกันที่กิ่งละ 1,000 บาทขาดตัว ใครแน่กว่ากัน กิ่งพันธุ์หมอนทองก็ว่ากันที่หลัก 200-300 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาดความสูงด้วย

         มาเลย์ใช้เวลาปลูก 7 ปีให้ผลผลิต และพยายามลดให้เหลือ 5 ปี แต่ทุเรียนไทยเดี๋ยวนี้ 3-4 ปี ให้ผลแล้ว มาเลย์ปล่อยให้ต้นขึ้นสูงตามธรรมชาติ แล้วปล่อยผลสุกร่วงลงมาเป็นทุเรียนปลาร้า ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนจีนมาเลย์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และแผ่นดินใหญ่

         ในขณะไทยเป็นทุเรียนตัด ตั้งแต่ตัดให้ยอดเตี้ย สะดวก ในการตัดผลบ่ม เพื่อเลี่ยงสภาพปลาร้า ซึ่งเคยนิยมมาแต่โบราณ แต่ไทยยุค 40-50 ปีหลัง หันไปนิยมทุเรียนที่ปรับปรุงพันธุ์ดีขึ้น และจากทุเรียนปลาร้ามากินทุเรียนกรอบ หวาน มัน ไม่เละซึ่งมีรสขม อีกทั้งยังพัฒนาทุเรียนดิบ มาเป็นทุเรียนทอดกรอบ น้องๆสแน้กฝรั่ง ได้มูลค่าเพิ่มต่างหาก

         เกษตรกรชาวสวน อ่านข้อมูลเหมา ซาน คิง แล้ว ควรตัดสินใจอย่างไรดี?

 

  

         

         ว่ากันแบบไม่เกรงใจใคร ราคาทุเรียนเหมา ซาน คิง ณ ขณะนี้ ยังเป็นราคาลวงตา เพราะตลาดนิยม ของน้อย ราคาย่อมแพงธรรมดา ตัวอย่างทุเรียนพันธุ์ หลงลับแล และ หลินลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ แต่ก่อนกิโลละไม่กี่สิบบาท ขยับเป็น 300-400 บาท เพราะด้วยของน้อยและแรงโปรโมท

         ทุเรียนพันธ์ นกกระจิบ บ้านนาตาขวัญ อ.เมืองระยอง ก็เช่นกัน เดิมเคยขายปลีกราคากิโลละ 20 บาทมาก่อน พอทำตลาดอย่างชาญฉลาดกลับขายได้กิโลละ 250 บาทก็ด้วยของน้อย จำกัดการผลิตและผลผลิตยังไงไม่พอความต้องการ

         แต่เหมา ซาน คิง จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่? คำตอบอยู่ที่การขยายพื้นที่ปลูกและการเพิ่มขึ้นของผลผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

         1.การเพิ่มพื้นที่ปลูกเหมา ซาน คิง เชื่อแน่ว่า เพิ่มขึ้นไม่น้อย ลำพัง จ.ระยอง เฉพาะล้งใหญ่เจ้าเดียวก็ 500 ไร่ แต่เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกทุเรียนอยู่แล้วคงขยายไม่มาก อย่างเก่งใช้วิธีการเสียบยอด สร้างผลผลิตใหม่ได้ระดับหนึ่ง

         แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นต่างหาก เช่น ยางพาราคาที่เผชิญราคาต่ำ มีโอกาสหวนกลับไปปลูกเหมา ซาน คิง ได้ค่อนข้างมาก

         2.เหมา ซาน คิง และทุเรียนไทยมีกระบวนการปลูกและดูแลไม่ต่างกัน ทุเรียนไทย พื้นเพเดิมก็มาจากป่าภาคใต้ที่มีชายแดนติดมาเลย์อยู่แล้ว ฉะนั้นการปลูกไม่มีปัญหา และพื้นที่ปลูกอย่างภาคใต้และภาคตะวันออกก็เหมาะสมอยู่แล้ว

         3.รัฐบาลมาเลย์ให้ความสำคัญกับทุเรียนส่งออก ถือเป็นพืชเศรษฐกิจเด่น รองจากปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้อย่างขนุน มะเฟือง ตั้งเป้าสวยถึงขั้นจะเอาชนะทุเรียนไทยให้ได้ ทิศทางนี้จะเพิ่มพื้นที่ปลูก และผลผลิตเหมา ซาน คิง มากขึ้น

         4.จีนเป็นตลาดใหญ่ รองรับทุเรียนสดไม่อั้น เนื่องจากความนิยมล้นเหลือ ผลผลิตที่เพิ่มของเหมา ซาน คิง ไม่ถือว่ามีปัญหา

 

 

         5.แต่ราคาซื้อขายเหมา ซาน คิง อาจเปลี่ยน ราคาหน้าสวน จะไม่สูงโด่งตลอดกาล 800-1,000 บาท/กิโล เพราะจำกัดตลาดไป อาจลดลงมาเหลือ 200-300 บาทหรือต่ำกว่านั้น ในขณะทุเรียนไทยเฉลี่ยราคาหน้าสวนแตะระดับ 100 บาท/กิโลกันแล้ว และแม้รัฐบาลมาลย์ประกันราคาเหมา ซาน คิง ที่กิโลละ 600 บาท อนาคต ถ้าผลผลิตมาก ราคาประกันอาจหล่นลงมาเหลือ 150-200 บาท ซึ่งก็ไม่หนีราคาทุเรียนไทยมากนักล้วนเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องใคร่ครวญ

         6.ผลลัพธ์ในอนาคตเป็นเช่นไรไม่มีใครรู้ ที่แน่ๆคือคนขายกิ่งพันธุ์ ฉวยโอกาสทำกำไรเป็นล่ำเป็นสันจากแรงเป่า ขนาดที่มาเลย์กิ่งละ 240 บาท ตอนนี้กิ่งพันธุ์ที่ขายในตลาดไทย มีทั้งนำเข้าและทำเองจากต้นแม่ที่เริ่มพอมีอยู่บ้าง กลุ่มนี้ทำกำไรก่อนใครอื่น

         7.ล้งจีนก็มีแล้ว ล้งท้องถิ่นก็มีแล้ว ตอนนี้ล้งจากบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ก็เข้าสู่ตลาดทุเรียนเช่นกันและเป็นตัวกระตุ้นปลูก เหมา ซาน คิง เพื่อส่งออกผลสดด้วย แต่หลักๆน่าจะยังเป็นหมอนทองของไทย

         8.จำนวนผลผลิตต่อต้น ต่อไร่ และน้ำหนักผลต่อไร่ จะเป็นปัจจัยที่เกษตรกรเองขบคิดเอง เหตุผลที่ชาวสวนไทยนิยมปลูกหมอนทอง ส่วนหนึ่งราคาดี ตลาดนิยม และน้ำหนักดี ผลละ 4-5 กิโลขึ้น ซึ่งเป็นตัวไปเพิ่มรายได้ อีกทั้งมีเปลือกหนาเหมาะแก่การขนส่ง

         เทียบกับเหมา ซาน คิง ราคาต่อกิโลสูงก็จริง แต่ขนาดผลเล็ก 2-2.5 กิโลเท่านั้น เปลือกบาง และยังไม่มีความรู้ลึกซึ้งกับธรรมชาติของมันเท่าหมอนทองง และราคาที่แพงของเหมา ซาน คิง ไม่เพียงจำกัดเฉพาะตลาดส่งออกเท่านั้น หากยังยากแก่การทำตลาดภายในประเทศอีกด้วย

         คงต้องดูทางหนีทีไล่กันให้รอบด้าน ทั้งข้อเด่นและข้อด้อย อย่าไปเชื่อที่ใครต่อใครพยายามเป่าตูดเหมา ซาน คิง ไม่งั้น นอกจากไม่รวยแล้ว ยังอาจซวยซ้ำได้เหมือนพืชเป่าตูดตัวอื่นที่ผ่านมา